ปรากฎการณ์ "ปลากอง" (แซลมอนเมืองน่าน) บ้านผาสุก อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 1 ปี มีครั้งเดียว

 ปลากอง หรือ ปลาปากหนวด หรือปลาปีกแดง มีพฤติกรรมการวางไข่ที่วิเศษ และอาจจะเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทยที่ จ.น่าน เท่านั้น เป็นการว่ายทวนน้ำในระดับน้ำที่ลึกแค่ 3-5 ซม. เพื่อไปผสมพันธ์และวางไข่ และส่วนใหญ่จะวางไข่ในวันพระ ซึ่งล่าสุด เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.พ.64 วันมาฆบูชา



   ปลาปากหนวด หรือ ปลาปีกแดง ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus vernayi ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงปลาตะพากเหลือง (H. wetmorei) แต่ต่างกันตรงที่ครีบก้นไม่ยาวถึงโคนหางเหมือนปลาตะพากเหลือง ครีบและหางเป็นสีแดงเข้มหรือสีส้ม และถิ่นที่อยู่พบในภาคอีสานภาคเหนือ และภาคกลางแถบ จังหวัดเพชรบุรีราชบุรี พบน้อยกว่าปลาตะพากเหลือง พบเป็นบางฤดูกาลเท่านั้น 

   ปลาปากหนวด หรือ ปลาปีกแดง ในช่วงวันขึ้น 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ในเดือนมีนาคม ของทุกปี ในแม่น้ำมาง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำน่าน ในตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จะมีปรากฏการณ์ที่ปลาปากหนวดนับพันหรือหมื่นตัวว่ายทวนน้ำขึ้นไปผสมพันธุ์และวางไข่ตามลำน้ำและโขดหิน ซึ่งปลาจะมากองรวมกัน ชาวบ้านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ปลากอง" ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียง 2 วันนี้เท่านั้น และก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ จะมีสิ่งบอกเหตุ คือ ท้องฟ้ามืดครึ้ม อากาศเย็นกว่าปกติ และนกเค้าแมวส่งเสียงร้อง เมื่อผสมพันธุ์และวางไข่เสร็จแล้ว จะกลับไปอาศัยอยู่ยังที่เดิม หรือบางตัวก็ตายลงตามอายุขัย


    เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 700 - 1000 กรัม จากข้อมูลในปัจจุบัน ปลากอง พบได้ในพื้นที่ จ.น่านเท่านั้น ใน อ.บ่อเกลือ เเละดูเหมือนว่าจำนวนจะลดน้อยลงทุกปี (ชาวบ้านในพื้นที่อนุรักษ์กันอยู่ครับ)จากเดิมที่มีปีละหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันพบได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น 


คลิปปลากอง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 64 ที่บ้านผาสุก หมู่ 3 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ขออนุญาตเจ้าของคลิปและเจ้าของภาพ ถิ่นน่านออนไลน์ ด้วยครับ



ความคิดเห็น